สัญญาณหน้าหนาว! “เหมยขาบ” หยดน้ำค้างแข็ง บนยอดดอยอินทนนท์

เข้าสู่ฤดูหนาว ยอดดอยอุณหภูมิลดลงต่ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือ 4 องศาฯ จนเกิดปรากฏการณ์เหมยขาบ เป็นไฮไลต์ให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัส

เช้านี้เกิดปรากฏการณ์ เหมยขาบ” ต้อนรับลมหนาวบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่อุณหภูมิลดลงเหลือเพียง 4 องศาเซลเซียส ทำเอานักท่องเที่ยวหลายคนต่างเข้าไปถ่ายรูปเก็บภาพบรรยากาศสุดพิเศษแห่งปีกัน ไม่เพียงเท่านั้นชาวโซเชียลยังตื่นเต้นดีใจที่ฤดูหนาวปีนี้ของประเทศไทยนั้นมาเร็ว

โดยเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ เหมยขาว” ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นครั้งแรกของปีที่พบในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

โดยพบบริเวณลานจอดรถหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ อน.5 (ยอดดอย)

แต่ปรากฏการณ์เหมยขาบนี้คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของฤดูหนาวและเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวี ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกัน ดังนี้

เหมยขาบ” เป็นภาษาไทยพื้นถิ่นของภาคเหนือ ที่เอาไว้เรียก ละอองน้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็งแผ่นบาง ๆ เกาะอยู่บนใบไม้ใบหญ้าในเวลาที่อากาศหนาวจัด โดยคำว่า เหมย” แปลว่า น้ำค้าง” ส่วนคำว่า ขาบ” แปลว่า ชิ้นเล็กๆ” เมื่อนำมาผสมกันจึงหมายความว่า น้ำค้างแข็งแผ่นบางๆ

อย่างไรก็ตาม เหมยขาบ” ต่างจาก แม่คระนิ้ง” (แม่-คะ-นิ้ง) ตรงที่แม่คระนิ้งนั้น จะใช้เรียกหยดน้ำค้างแข็งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นภาษาไทยพื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง

สำหรับการเกิดเหมยขาบ และแม่คระนิ้ง ในประเทศไทยนั้นพบได้บนดอยหรือภูเขาสูงในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และ เลย ที่มีอุณหภูมิประมาณ 0 องศาเซลเซียส หรือติดลบเล็กน้อย