ล้านนาไม่โดดเดี่ยว ความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจใต้เงาจีน

วันที่ 15 ตุลาคม ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สำนักพิมพ์มติชนเปิดเวทีเสวนา หัวข้อ “ล้านนาใต้เงามังกร” เชิญสมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ และสมชาย แซ่จิว กูรูผู้รอบรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน ร่วมบรรยายพร้อมแนะนำหนังสือ “ล้านนาสวามิภักดิ์ ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับล้านนา” ที่เขียนโดย โจวปี้เฝิง

สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวว่า จีนเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางการทูตกับล้านนาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน ที่เริ่มยึดมาตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้า (หนานโจว) ตาลีฟู (ต้าลี่) ยูนนาน จนกระทั่งยึดพุกามและแผ่อิทธิพลมาถึงล้านนาได้ใน พ.ศ. 1835 ซึ่งคืออาณาจักรโยนกในลุ่มน้ำกก ณ เวลานั้น ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเชียงใหม่เพียง 4 ปี

คนล้านนาเรียกคนจีนว่าพวกฮ่อ ซึ่งมาจากคำว่าหุย ที่อยู่ทางมณฑลกานซู่ มีผิวขาว แต่เป็นชาวมุสลิม โดยอาศัยอยู่ทางยูนนานเป็นจำนวนมากและทำมาค้าขายกับล้านนา ชาวล้านนาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ฮ่อ และกลายเป็นเรียกคนจีนทุกกลุ่มว่าฮ่อในเวลาต่อมา

ความน่าสนใจคือในเอกสารจีนบันทึกว่าราชวงศ์หยวนไม่สามารถตีล้านนาได้ในสมัยพญามังราย ซึ่งน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้กลับไม่ถูกพูดถึงในเอกสารของฝั่งล้านนา ทั้ง ๆ ที่ต้านทานการรุกรานได้หลายครั้งหลายคราซึ่งควรเขียนหรือบันทึกไว้เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร

หากเราเชื่อเรื่องเอกสารจีนที่บันทึกเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความจริง มันอาจทำให้เราต้องกลับไปศึกษาเรื่องล้านนากันใหม่ว่าเหตุใดล้านนาจึงต้านทานราชวงศ์หยวนได้ สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าว

สมชาย แซ่จิว เสริมถึงยุทธศาสตร์การปกครองของราชวงศ์หยวน (มองโกล) ว่า มองโกลใช้วิธีรุกและยึดดินแดนต่าง ๆ เพื่อให้เข้ามาสวามิภักดิ์ ซึ่งต่างจากราชวงศ์จีนยุคก่อนหน้าที่เห็นว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ดินแดนต่าง ๆ จึงต้องเข้ามาส่งบรรณาการเอง (จิ้มก้อง) ดังนั้น กว่าที่ราชวงศ์หยวนจะใช้วิธีทางการทูตกับล้านนาก็มาถึงกษัตริย์องค์ที่ 4 ของราชวงศ์แล้ว ซึ่งกลับไปใช้วิธีการแผ่บารมีและระบบบรรณาการ ครั้งแรกที่ล้านนาส่งบรรณาการกับราชวงศ์หยวนจึงเกิดขึ้นในสมัยนี้ และตรงกับสมัยของพญาไชยสงคราม บุตรของพญามังราย ในเอกสารจีนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีปฏิสัมพันธ์กับล้านนาในสมัยนี้ และปรากฏชื่อเจ้าน้ำท่วมบุตรของพญาไชยสงครามอยู่ด้วย

ที่สำคัญคือการจะส่งบรรณาการไปให้จีนได้นั้นต้องถูกรับรองว่าเป็นกษัตริย์ การดำรงสถานะกษัตริย์ของล้านนาจึงต้องถูกรับรองจากจีน เช่นเดียวกับอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ มิเช่นนั้นจะทำการค้าขายกับจีนไม่ได้ ดังนั้นการต่อสู้แย่งชิงหรือการรักษาอำนาจทางการเมืองในราชวงศ์ของล้านนาเองจึงต้องอิงกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พระเจ้าติโลกราชที่ต้านทานการรุกรานของเวียดนามได้ ทางจีนแผ่นดินใหญ่เห็นว่าทำผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงมอบรางวัลให้อย่างงามและแต่งตั้งเป็นท้าวล้านนา หรือ “คิง ออฟ ล้านนา”

สมชาย ยังกล่าวอีกว่า ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือ การให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการส่งบรรณาการไปยังเมืองจีน ที่คนส่วนมากจะนึกถึงภาพเรือสำเภา แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีเส้นทางทางบกด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังกรุงปักกิ่งเป็นเวลานานถึง 2 ปีกว่า รวมคณะเดินทางร่วม 100 คน แต่มีทูตเพียง 7-8 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือพ่อค้าที่นำสินค้าไปค้าขาย การจิ้มก้องจึงเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับล้านนาอย่างมหาศาล ซึ่งส่วนมากล้วนเป็นของที่หาซื้อมาจากอยุธยาและดินแดนในบริเวณใกล้เคียง

ราชวงศ์หยวนมีอำนาจอยู่เพียง 97 ปี และล้านนาส่งบรรณาการไปทั้งหมด 9 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 10 ปีต่อครั้ง ซึ่งยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เป็นเพราะการเมืองภายในของหยวนเองด้วยที่ไม่ได้มีเสถียรภาพมากนัก รัฐที่ห่างไกลอย่างล้านนาจึงไม่ต้องส่งบรรณาการบ่อย อย่างไรก็ตามการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับจีนก็นำมาทั้งอำนาจและกำไรต่อล้านนาอย่างมหาศาล