
ธปท.ผ่อนคุมแลกเงิน-เพิ่มผู้เล่น เอื้อธุรกิจ-รายย่อย ลดต้นทุน 1 พันล้าน
นับวันค่าเงินบาทเพิ่มความผันผวนสูงขึ้นทุกปี บนความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้การคาดการณ์ได้ยากขึ้น โดยถ้าดูช่วง 5-6 เดือนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสลับแข็งค่าไปมาหลายรอบ จากต้นปี 2560 เปิดตลาดค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.83 บาท/ดอลลาร์ ก็เคลื่อนไหวอ่อนค่าไปที่ 35.84 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่แตะแข็งค่าทำสถิติรอบ 23 เดือน ที่ 33.95 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งล่าสุด (5 มิ.ย.) ค่าเงินบาทปิดอยู่ที่ 33.99 บาท/ดอลลาร์ ตอกย้ำการเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรวดเร็ว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะภาคธุรกิจ
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ประกาศ ”การปฏิรูปเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน” หรือ (Foreign Exchange Regulation Reform) แม้จะสร้างความผิดหวังให้กับตลาดการเงินที่คาดว่า ธปท.จะมีมาตรการสกัดเก็งกำไรค่าเงินออกมา แต่ ธปท.กลับปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปิดเสรีขึ้น ซึ่ง “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ทบทวนจุดอ่อนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ราว 80 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้ปรับปรุงอย่างจริงจังมายาวนาน ทำให้เป็นอุปสรรคและไม่เท่าทันการบริหารจัดการความเสี่ยงสมัยใหม่ สำหรับคนทำการค้าการลงทุน ดังนั้น การปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน (Ease of Doing Business) ซึ่งจะมีทั้งการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การผ่อนคลายให้เอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. การสนับสนุนให้ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการได้ถึง 1,000 ล้านบาท/ปี
ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่า การผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้ จะไม่ทำให้หน้าที่ดูแลเสถียรภาพการเงินของ ธปท.ด้อยลง โดย ธปท.ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลสำหรับติดตามวิเคราะห์เงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อประเมินผลกระทบต่อตลาดเงินและระบบเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ในการผ่อนคลายเกณฑ์ต่าง ๆ วชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.แจกแจง 4 เรื่องหลัก ดังนี้
เรื่องแรก การลดขั้นตอนและเอกสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยผ่อนคลายให้หันมายื่นเอกสารประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้จากเกณฑ์เดิม โอนเงินออกนอกประเทศตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์ขึ้นไป จะต้องยื่นเอกสารทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ
เรื่องที่ 2 คือ ผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น เช่น อนุญาตให้ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี อนุญาตให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณีตามเกณฑ์เดิม รวมถึงอนุญาตให้บริษัทและบริษัทในเครือที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ (Pilot Company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและโอนเงินออกนอกประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบ